องค์การค้าของคุรุสภาในยุคต้นๆ ไม่มีการรวบรวมประวัติความเป็นมาไว้มากนัก มีเพียงแต่ประวัติของร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์เป็นร้านค้าเล็กๆ 2 คูหา รวมอยู่กับร้านไทยภัตต์และร้านอัมพร สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ภายในอาคาร 9 ถนนราชดำเนินกลาง เปิดดำเนินการครั้งแรกพร้อมกับการเปิดถนนราชดำเนินกลางที่มีการปรับปรุงใหม่ ในวันที่ 24 มิถุนายน 2485 รัฐบาลได้สร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและสร้างอาคารทันสมัยขึ้นเหมือนๆ กันทั้งสองฝั่งของถนนราชดำเนินกลาง เป็นร้านจำหน่ายสินค้าประเภทหนังสือเรียน เครื่องเขียน และอุปกรณ์การศึกษา ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คือ พล.ท.ประยูร ภมรมนตรี เป็นผู้จัดการคนแรก และหลวงประเวศ วุฒิศึกษา เป็นผู้จัดการอีกท่านหนึ่ง จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2487 กรมอาชีวศึกษายังมีโรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช ที่บางลำภูอีกแห่งหนึ่ง เพื่อทำการสอนวิชาช่างพิมพ์และพิมพ์หนังสือของราชการ การดำเนินกิจการไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะเป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง คุรุสภาจึงได้รับโอนกิจการของทั้งสองแห่งนี้มา และเปลี่ยนชื่อโรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวชวิศยาราม เป็นโรงพิมพ์คุรุสภา
ธุรกิจที่มีมาตั้งแต่เริ่มแรกอีกอย่างหนึ่ง และเป็นกิจการของร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์คือ การตัดเสื้อผ้า เครื่องแบบนักเรียน ซึ่งเมื่อเริ่มต้นมีจักรอยู่เพียง 20 ตัว องค์การค้าฯ ได้ขยายกิจการไปเรื่อยๆ จนสามารถผลิตเครื่องแบบสำเร็จรูปนักเรียนในระบบงานอุตสาหกรรมได้และผลิตเครื่องแบบนักเรียนทุกประเภท รวมทั้งเครื่องแบบลูกเสือ อนุกาชาด และยังผลิตธงชาติ ธงต่างๆ ซึ่งโรงเรียนและหน่วยราชการต้องการ งานด้านนี้ได้ขยายกิจการจนสามารถผลิตกระเป๋านักเรียนได้ ในเวลาต่อมาก็ขยายงานไปเป็นโรงงานที่ถนนราชบพิธ แทนกิจการโรงพิมพ์ซึ่งย้ายไปรวมที่ลาดพร้าวแล้ว
องค์การค้าของคุรุสภา ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2493 โดยพระราชบัญญัติครู พุทธศักราช 2488 มาตรา 5(3) กำหนดวัตถุประสงค์หลัก เพื่อจัดหาผลประโยชน์ให้แก่คุรุสภา และเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่การศึกษา โดยรวมกิจการของร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์และโรงพิมพ์คุรุสภาเข้าด้วยกัน ต่อมาได้ซื้อโรงพิมพ์โสภณพิพัฒนากรที่ราชบพิธอีกแห่งหนึ่ง และเปลี่ยนชื่อโรงพิมพ์ทั้งสองเป็นโรงพิมพ์คุรุสภาพระสุเมรุและโรงพิมพ์คุรุสภาราชบพิธ เริ่มดำเนินการด้วยงเงินกู้ยืมจากแหล่งต่างๆ รวม 1 ล้านบาท และได้ทยอยชำระคืนจนหมดในปี พ.ศ.2511 องค์การค้าของคุรุสภาไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล มีภารกิจหลักที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาคือ การพิมพ์ตำราเรียน สื่อการเรียน การผลิตอุปกรณ์การศึกษา การค้าขาย และการบริการธุรกิจ มีผู้จัดการองค์การค้าของคุรุสภาเป็นผู้บริหาร และต่อมาเปลี่ยนชื่อตำแหน่งจากผู้จัดการองค์การค้าของคุรุสภาเป็น “ผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภา”
ต่อมาพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 ได้บัญญัติให้มีหน่วยงานนิติบุคคลในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ 2 หน่วยงาน คือ คุรุสภา ซึ่งเป็นสภาวิชาชีพของครูและบุคลากรทางการศึกษา และ สกสค. ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตครูและบุคลากรทางการศึกษา “องค์การค้าของคุรุสภา” จึงได้ถูกโอนย้ายไปขึ้นกับ สกสค. (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา) และได้เปลี่ยนชื่อเป็น ” องค์การค้าของ สกสค.” (องค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา) ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน
ปัจจุบันร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์มีทั้งหมด 7 สาขา ได้แก่ ร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ลาดพร้าว ร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ราชบพิธ ร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ สกสค.(คุรุสภาเดิม) ร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์สตรีท ร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ท้องฟ้าจำลอง ร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์อิมพีเรียลเวิร์ดสำโรง และร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์อ้อมน้อย นอกจากนี้ยังดูแลรับผิดชอบสถานีบริการน้ำมัน จังหวัดอุตรดิตถ์ อีกด้วย
พันธกิจ
จากวัตถุประสงค์หลักในการจัดตั้ง องค์การค้าของคุรุสภาจึงมีภารกิจในการผลิต จำหน่าย และพัฒนาหนังสือ สื่อการเรียนการสอน ตรงตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งเป็นกลไกของกระทรวงศึกษาธิการในการรักษาระดับราคาที่เป็นธรรม ของหนังสือและสื่อการเรียนการสอน เพื่อให้บริการแก่นักเรียน นักศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษาของชาติ ในเรื่องสื่อการเรียนการสอนและเรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง
วิสัยทัศน์
องค์การค้าของ สกสค. ยุคใหม่ มุ่งมั่น พัฒนา ศักยภาพสูงสุดในการผลิตและจำหน่ายหนังสือ สื่อการเรียนการสอนที่มีคุณภาพภายใต้หลักธรรมาภิบาล และสนองตอบนโยบายทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ โดยประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อให้กลับมาเป็นหนึ่งในองค์กรหลักของธุรกิจทางการศึกษาระดับประเทศ